วัฒถุประสงค์ของบล็อกนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดลองสร้างบล็อกเกอร์ ของนิสิตเอกสังคมชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

พระธาตุเรณู

พระธาตุเรณ
       


 พระธาตุเรณู  ตั้งอยู่ที่วัดธาตุเรณู  ตำบลเรณู  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม  วัดธาตุเรณูเดิมชื่อวัดกลาง  เพราะสร้างขึ้นตรงกลางเมือง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๖ ไร่เศษ  เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง  แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานแน่นอน  เล่ากันมาว่าเจ้าผู้ปกครองเมืองคนแรกพร้อมด้วยอุปฮาดกรมการเมือง  และราษฎรร่วมกันสร้างขึ้น  แต่โบราณกาลมาถือว่าวัดกลางเป็นวัดสำคัญของเมือง  เป็นวัดสำหรับกระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณีด้วย  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดกลางมาเป็นวัดธาตุเรณูตามพระธาตุเรณู  ดังที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบันนี้
        พระธาตุเรณูสร้างด้วยอิฐถือปูน  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดในปัจจุบัน  มีการก่อสร้างถึง ๒ ครั้ง  ครั้งแรกแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๑  ยังไม่ทันจะทำการฉลองสมโภชก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายจนหมดสิ้นเป็นที่เศร้าเสียใจ กันทั่ว  ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสจึงประชุมเห็นพร้อมกันว่าต้องทำการก่อสร้างพระ ธาตุนี้ขึ้นอีกให้ได้  โดยก่ออิฐให้หนาขึ้น  ทำการก่อสร้างอยู่ราวปีกว่าก็สำเร็จเรียบร้อย  จึงได้จัดงานฉลองสมโภชในปี พ.ศ.๒๔๖๓ 
        รูปแบบของพระธาตุเรณูได้จำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม (องค์ก่อนกรมศิลปากรบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓) แต่มีขนาดเล็กกว่า  สูงประมาณ ๓๕ เมตร  ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๘.๓๗ เมตร  เรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมสูง  เรือนธาตุชั้นแรกและชั้นที่ ๒ ประดับด้วยซุ้มประตูหลอกและลวดลายปูนปั้นทั้ง ๔ ด้าน  ถัดขึ้นไปเป็นส่วนองค์ระฆังทำทรงบัวเหลี่ยมประดับด้วยลายดอกจอกปูนปั้น  ถัดขึ้นไปจึงเป็นส่วนของยอดซึ่งประดับด้วยฉัตรอยู่ด้านบนสุด  ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระไตรปิฎก  พระพุทธรูปทองคำ  พระพุทธรูปเงิน  รวมทั้งของมีค่าที่เจ้าเมืองและประชาชนมีศรัทธาบริจาค
        นอกจากนั้น  ภายในวัดธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานของ “พระองค์แสน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนเคารพนับถือมาก  พระองค์แสนมีน้ำหนักถึง ๑๐ หมื่น  ตามมาตราชั่งที่นิยมใช้กันในท้องถิ่น  คือ ๑ หมื่น เท่ากับ ๑๒ กิโลกรัม  ๑๐ หมื่นจึงเท่ากับ ๑๒๐ กิโลกรัม  แต่การนับในปัจจุบัน ๑๐ หมื่นเป็น ๑ แสน  เพราะเหตุนี้จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระองค์แสน” หรือ “หลวงพ่อองค์แสน” ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง  หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร  สูง ๕๐ เซนติเมตร  ปางสมาธิ  พระพักตร์เป็นแบบลาว  ขมวดพระเกศาเล็ก  พระรัศมีเป็นเปลว  อายุประมาณ ๑๐๐ ปีขึ้นไป  พระสงฆ์และชาวบ้านร่วมกันหล่อพระองค์แสนขึ้นเพื่อจะให้เป็นพระพุทธรูปที่ ศักดิ์สิทธิ์  ขจัดภัยพิบัติข้าศึกศัตรูหมู่อมิตร  เป็นนิมิตรหมายถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุขแก่ประชาชนที่เคารพนับถือ  ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ให้ได้ทำไร่ทำนากันทั่วไป  และเมื่อถึงวันสงกรานต์ของทุก ๆ ปี จะมีพิธีอัญเชิญพระองค์แสนแห่ไปรอบเมือง  เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาและสรงน้ำด้วย


ที่มา 
http://www.finearts.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น